วัยรุ่นวัยเสี่ยง แชทรักออนไลน์
การสนทนาทางอินเตอร์เน็ตหรือ “แชท” นั้นมันเป็นการสนทนาที่มีเสน่ห์อยู่ในตัว เทคนิคการใช้ภาษาสื่ออารมณ์ ความรู้สึก การหว่านล้อม เชื้อเชิญ ซึ่งบางครั้งก็สร้างความรู้สึกแตกต่างจากการสนทนาธรรมดาเห็นหน้ากัน นั่นเพราะการแชทมันสามารถทำอะไรบางอย่างที่เมื่ออยู่ต่อหน้าอาจจะไม่กล้าแสดงออกได้ ก็ไม่แปลกนักที่หลายๆ คนจะติดอกติดใจอยู่กับการแชท แต่ในปีที่ผ่านมาศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) มูลนิธิกระจกเงา รายงานสถิติคนหายจากการ “แชท” มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย พุ่งสูงที่สุดในประวัติการณ์ และทุกรายเป็น “เด็กวัยรุ่น” แทบจะทุกกรณีมักจะมีเรื่องรักๆมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นกังวลของผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่าย“แชท” ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน “สื่อรักออนไลน์” ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กวัยรุ่นเป็นจำนวนมากขนาดนี้ได้อย่างไร บทสัมภาษณ์ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์
พัฒนาการของเด็กวัยรุ่น
ตั้งแต่อายุประมาณ 12-13 ปี เด็กก็จะย่างก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นซึ่งเด็กในวัยนี้จะยังมีความคิดที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตยังน้อยและพัฒนาการทางสมองก็ยังไม่ได้เติบโตจนพร้อมที่จะเข้าใจเรื่องเหตุผลได้อย่างเต็มที่ แต่จะอยู่ในช่วงการเจริญทางอารมณ์ การพัฒนาการทางด้านอารมณ์เท่านั้น สังเกตได้ว่าช่วงวัยนี้จะมีการใช้อารมณ์กันค่อนข้างเยอะ
วัยตื่นเต้นกับสิ่งใหม่และท้าทาย
วัยรุ่นมักจะชอบอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้รับความรู้สึกตื่นเต้น ประหลาดใจ มันก็จะยิ่งเกิดความสนุกไปกับสิ่งนั้น จนไม่ทันได้ระวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยอะไรบางอย่างที่กำลังจะเข้าถึงตัว
เด็กวัยรุ่นกับการแชท
เรื่องแชทนี้ก็ถือเป็นแฟชั่นเป็นเทรนด์ของสังคม เป็นเรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่ยังไม่เคยลอง เด็กบางคนอาจจะเริ่มเข้าสู่การแชทเพราะอิงไปตามกระแส อิงไปตามเพื่อน เพราะถ้าแชทไม่เป็นมันก็อาจจะเกิดความรู้สึกแปลกแยกในกลุ่มหรือเชย ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นการแชทก็มักจะเป็นการพูดคุยกันในเรื่องดีดี ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความรู้สึกดีดี เมื่อมันเป็นการสื่อสารที่ทำให้รู้สึกดีเหมือนมีคนมาทำดีด้วยเด็กวัยรุ่นจึงคิดว่า ไม่น่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงอะไรขึ้นกับตัวเองและมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวซึ่งการคิดในแบบนั้นก็เป็นไปตามเรื่องอารมณ์ความรู้สึกตามวัย วัยรุ่นวัยใส จึงไม่ค่อยได้ระมัดระวังในการพูดคุยเรื่องส่วนตัวหรือการนัดพบกับเพื่อนทางอินเตอร์เน็ต และด้วยเด็กวัยรุ่นจะมีประสบการณ์น้อยและยังไม่เข้าใจสภาพปัญหาสังคมที่แท้จริงว่ามีคนจ้องที่จะทำการล่อลวงโดยใช้การแชทเป็นเครื่องมือ และเด็กยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามให้คำแนะนำตักเตือน หรือบางรายยิ่งบอกมากเท่าไหร่เด็กก็จะคิดว่านั่นคือการ “บ่น”
ทำอย่างไรถึงเด็กวัยรุ่นถึงจะปลอดภัยจากวายร้ายนักแชท
1. รู้เท่าทันภัยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในสังคม หมั่นติดตามข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ หลายแขนงทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ เพื่อให้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้มองไปถึงรูปแบบที่วายร้ายสามารถเข้าถึงเหยื่อไปจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้รับมาประกอบการคิดทบทวนและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ามีโอกาสตกเป็นเหยื่อหรือไม่
2. ทักษะการใช้ชีวิต นอกจากจะรู้ว่าสิ่งไหนควรทำสิ่งไหนไม่ควรทำแล้วสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือทักษะการใช้ชีวิตที่จะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดปัญหา เช่น
เมื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกหว่านล้อมจากการแชทกับคนแปลกหน้า เราจะมีวิธีการปฏิเสธหรือไม่หลงใหลไปกับคำเชื้อเชิญนั้นได้อย่างไร
การนัดพบกับเพื่อนทางอินเตอร์เน็ตในสถานที่เปลี่ยวหรือไม่ค่อยมีผู้คน หรืออาจถูกชักชวนให้ไปยังสถานที่ใดสถานที่หนึ่งซึ่งค่อนข้างล่อแหลมต่อการก่อเหตุอันไม่สมควร เราจะมีวิธีการปฏิเสธอย่างไรหรือมีการวางแผนรองรับหากเกิดความผิดพลาด
หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย จะมีเทคนิคการต่อรองกับวายร้ายนักแชทอย่างไร ถ้าเกิดเรื่องขึ้นแล้ว สิ่งที่ควรทำเพื่อเป็นการป้องกันการติดโรคหรือไม่ให้ตั้งท้องทำอย่างไร และขั้นตอนการประสานงานขอความช่วยเหลือที่ไวที่สุด เหล่านี้เป็นเพียงคำถามบางคำถามที่จะช่วยฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาและเพิ่มเติมทักษะชีวิต
3. ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กเชื่อฟังคำเตือนและคำแนะนำจากคนในครอบครัว หากมีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ดี เด็กบางคนเมื่อมีการนัดพบกับเพื่อนทางอินเตอร์เน็ตก็อาจจะตัดสินใจที่จะไม่ไปพบ เนื่องเขาเชื่อฟังคำเตือนและคำแนะนำจากพ่อ แม่ ที่คอยเตือนให้ระวังการถูกล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ในทางกลับกันหากเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ค่อยดี เช่น ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหน้าที่การงานของพ่อแม่ทำให้ไม่สามารถมีเวลาในการเลี้ยงดูบุตรหลานที่เพียงพอ ไม่ค่อยได้ให้คำแนะนำหรือเพิ่มเติมทักษะชีวิตเด็กก็อาจไม่มีเกราะในการป้องกันที่เสริมสร้างมาจากครอบครัว หรือในความสัมพันธ์ที่ร้ายไปกว่านั้นคือการที่มักจะมีการถกเถียงหรือทะเลาะกันเป็นประจำในครอบครัว ทำให้เมื่อพ่อ แม่ พี่ น้อง ว่ากล่าวตักเตือนจึงไม่ค่อยเชื่อฟังนัก
แม้ในตอนนี้เด็กวัยรุ่นอาจจะยังไม่ค่อยรู้เท่าทันภัยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน และไม่ค่อยจะเชื่อฟังคำตักเตือนคำแนะนำสักเท่าไหร่ แต่ก็อย่าได้ละเลย นอกจากผู้ใหญ่จะต้องคอยให้การดูแลและสั่งสอนแล้วอย่าลืมติดตั้งทักษะการใช้ชีวิตไว้ให้เด็กวัยรุ่นด้วย เพราะหากเด็กกำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เด็กจะได้นำความรู้และทักษะชีวิตที่ได้รับมาช่วยแก้ไขปัญหาได้เพื่อเอาตัวรอดได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น